ภาระงาน/ใบงาน
ให้นักเรียนศึกษาการให้คะแนนและการตัดสินของกีฬาตะกร้อลอดห่วง และทำใบงานเครื่องมือคิด Ranking เรื่อง จัดอันดับการลงโทษทางวินัยของกีฬาตะกร้อลอดห่วง พร้อมกับตกแต่งให้สวยงาม
การให้คะแนนและการตัดสิน
► ผู้เล่นจะได้คะแนน 10 คะแนน ที่สามารถทำให้ลูกตะกร้อเข้าห่วงชัยไม่ว่าจะเป็นท่าใดก็ตาม ที่กำหนดไว้โดยไม่คำนึงถึงความยากของแต่ละท่า
ยกเว้น
1 ใช้ท่าเดิมซ้ำกันเกิน 3 ครั้ง
2 ใช้ท่าต่างจากที่กำหนดไว้ในข้อ 9.2
3 ทำได้จากการส่งผ่านครั้งแรก หลังจากรับลูกโยน
4 ลูกตะกร้อกระดอนออกจากห่วง
5 ทำลูกตะกร้อเข้าห่วงภายหลังสัญญาณหมดเวลา
► ลำดับความยากของท่าต่าง ๆ ในการแข่งขัน
1 ลูกศีรษะ (ลูกโหม่ง)
2 ลูกข้างเท้าด้านใน (ลูกแป)
3 ลูกไหล่
4 ลูกเข่า
5 ลูกข้างเท้าด้านนอก (ลูกข้าง)
6 ลูกกระโดดไขว้
7 ลูกเตะด้านหลัง (โค้งหลัง)
8 ลูกเตะด้านหน้า (หลังเท้า)
► ทีมที่ทำคะแนนรวมได้สูงสุดเป็นผู้ชนะ
► กรณีที่คะแนนรวมเท่ากัน ตัดสินแพ้ชนะโดยการเล่นไทเบรก กรรมการผู้ตัดสินจะเป็นผู้เสี่ยงโยนเหรียญ หรือแผ่นกลม ทีมที่ชนะการเสี่ยงจะ
เป็นผู้เริ่มเล่นก่อน แต่ละทีมจะได้เวลาเล่นทีมละ 5 นาที โดยใช้กติกาเดิมที่กำหนดไว้ และต้องทำแต้มให้ได้สูงสุด หากยังได้คะแนนเท่ากันอีก
ก็ให้เล่นไทเบรกต่อไปจนกว่าจะได้ผู้ชนะ
► ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ต้องมีเจ้าหน้าที่ดังนี้
1. กรรมการผู้ชี้ขาด 1 คน
2. ผู้ตัดสิน 4 คน
• ผู้ตัดสิน • ผู้ควบคุมคะแนน • ผู้กำกับคะแนน • ผู้รักษาเวลา
► กรรมการตัดสินต้องอยู่ในสนามทั้งระหว่างการอบอุ่นร่างกายและระหว่างการแข่งขัน ซึ่งจะต้องทำหน้าที่กำกับการแข่งขันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและต้องรับผิดชอบดังนี้ :-
► ต้องตรวจดูผู้เล่นมิให้สวมใส่หรือใช้อุปกรณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อการแข่งขัน
► จะต้องให้สัญญาณในการเริ่มอบอุ่นร่างกายและเวลาการอบอุ่นร่างกายตลอดจนเวลาเริ่มและสิ้นสุดการแข่งขัน
► ขานหรือแจ้งเมื่อมีการทำผิดกติกาในระหว่างการแข่งขัน
► ตรวจสอบว่าผู้ที่ทำลูกเสียจะต้องเป็นผู้เริ่มส่งลูกเริ่มเล่น
► เป็นผู้อนุญาตให้มีการพักทางเทคนิคกรณีที่มีการบาดเจ็บหรือเหตุอื่นใดในระหว่างการแข่งขัน
► เป็นผู้ให้บัตรเหลืองหรือแดงกรณีที่มีผู้เล่นกระทำผิดตามกติกาที่กำหนดในข้อ 16
► เมื่อเสร็จการแข่งขัน กรรมการตัดสินจะยืนแถวตรงหน้าโต๊ะกรรมการเพื่อรับทราบคะแนนรวมจากกรรมการควบคุมคะแนน
► เพื่อตรวจสอบว่าการได้คะแนนนั้น ทำได้ขณะที่ห่วงอยู่ในระดับที่กำหนด
► กรรมการคะแนนจะต้องนั่งอยู่ข้างผู้ควบคุมคะแนนที่โต๊ะกรรมการผู้ตัดสิน
► ต้องทำหน้าที่บันทึกคะแนนในใบบันทึก และจำนวนครั้งในแต่ละท่าของผู้เล่นแต่ละคน
► ต้องคอยแจ้งผู้ควบคุมคะแนน ถึงจำนวนครั้งที่ผู้เล่นแต่ละคนสามารถเล่นได้คะแนนในแต่ละท่า
► กรรมการรักษาเวลาต้องนั่งอยู่ข้างกรรมการกำกับคะแนนที่โต๊ะกรรมการ
► เป็นผู้ให้สัญญาณนกหวีดเวลาเริ่มและสิ้นสุดการอบอุ่นร่างกายและการแข่งขัน
► หยุดเวลาเมื่อกรรมการผู้ตัดสินให้สัญญาณเวลานอกทางเทคนิค
► เป็นผู้บันทึกคะแนนในเครื่องนับคะแนนอิเล็คโทรนิคตามการประกาศของกรรมการผู้ควบคุมคะแนน
► ต้องตรวจสอบว่าห่วงถูกชักถึงระดับความสูงที่กำหนด
► ผู้ควบคุมคะแนนต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะกรรมการ
► เมื่อผู้เล่นทำแต้มได้ ผู้ควบคุมคะแนนจะเป็นผู้ประกาศโดยเริ่มจากหมายเลขผู้เล่น จำนวนครั้งของท่าที่ทำได้ เช่น “หมายเลข 1” ท่ากระโดดไ
ไขว้ครั้งที่ 1 หรือ "หมายเลข 10” ท่าลูกข้างเท้าด้านในครั้งที่ 3
► เมื่อทำคะแนนได้แต่เกินจำนวนครั้งในท่าดังกล่าว ผู้ควบคุมคะแนนจะประกาศโดยเริ่มจากหมายเลขเสื้อของผู้เล่น จำนวนครั้งที่ทำได้และบอก
ว่า "ไม่มีคะแนน" เช่น "หมายเลข 2” ท่ากระโดดไขว้ ครั้งที่ 4 ไม่มีคะแนน
► ผู้เก็บลูกตะกร้อต้องอยู่นอกบริเวณสนามแข่งขัน เพื่อคอยเก็บลูกตะกร้อที่กระดอน หรือหลุดออกนอกบริเวณสนาม และต้องส่งลูกกลับ
ไปยังโต๊ะกรรมการผู้ตัดสิน
► ผู้ชักรอกห่วง มีหน้าที่ชักและลดห่วงในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งจะต้องอยู่ใกล้โต๊ะกรรมการผู้ตัดสินและใกล้กับกรรมการผู้รักษาเวลา ซึ่งต้อง
คอยดูว่าเชือกและเสาห่วงได้ถูกชักขึ้นไปได้ความสูงตามที่กำหนด
► ผู้เล่นทุกคนต้องปฏิบัติตามกติกาการเล่น
► อนุญาตให้เฉพาะหัวหน้าทีม ที่จะติดต่อกับกรรมการผู้ตัดสินในระหว่างการแข่งขันทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับตำแหน่ง หรือเกี่ยวกับผู้เล่นในทีม หรือเพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับคำตัดสินของคณะกรรมการในการแข่งขัน ซึ่งกรรมการผู้ตัดสินต้องชี้แจงหรืออธิบายต่อหัวหน้าทีม
► ผู้จัดการทีม, ผู้ฝึกสอน, นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ประจำทีม จะไม่อนุญาตให้โต้เถียงคำตัดสินของกรรมการ หรือกระทำการที่เป็นการขัดขวางการดำเนินการแข่งขัน หากมีการฝ่าฝืนจะถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
► กรณีที่ผู้เล่นเจตนาใช้มือสัมผัสลูกตะกร้อในระหว่างที่ลูกตะกร้ออยู่ในการเล่นกรรมการผู้ตัดสินจะให้บัตรเหลืองเพื่อการทำโทษทันที หากผู้เล่นคนเดิมทำผิดซ้ำอีก กรรมการผู้ตัดสินจะให้บัตรแดงในการทำโทษ
► การให้บัตรแดงในการทำโทษ หมายถึง การเล่นในเกมดังกล่าวต้องยุติและไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัว คะแนนรวมสุดท้ายจนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นคะแนนที่ทำได้
► การทำผิดกติกาและผิดวินัยจะถูกลงโทษดังนี้ :-
การลงโทษทางวินัย
► การตักเตือน
ผู้เล่นจะถูกตักเตือนและให้บัตรเหลือง หากกระทำผิดใน 6 ประการดังนี้ :-
1 ประพฤติปฏิบัติตนไม่มีน้ำใจนักกีฬา เช่น แสดงหรือกระทำการขาดจริยธรรมและวินัยของนักกีฬา ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินการ
แข่งขัน
2 แสดงกิริยา หรือคำพูดหยาบคาย
3 ทำผิดกติกาบ่อย ๆ
4 ถ่วงเวลาการเล่น
5 เข้า-ออกสนามโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้ตัดสิน
6 ผละจากสนามแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้ตัดสิน
► ถูกให้ออก
ผู้เล่นที่ถูกให้ออกจากการแข่งขันและได้รับบัตรแดงหากทำผิดกรณีหนึ่งกรณีใดใน 5 กรณี ดังนี้ :-
1 มีความผิดเพราะทำผิดกติการ้ายแรง
2 มีความผิดเพราะการกระทำที่เจตนาทำร้ายฝ่ายตรงข้ามให้บาดเจ็บ
3 ถ่มน้ำลายใส่ฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลอื่น
4 ใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือไม่เหมาะสม
5 ได้รับบัตรเหลืองเป็นครั้งที่สองในการแข่งขันเกมเดียวกัน
► ผู้เล่นที่กระทำผิด หรือประพฤติไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกสนามแข่งขัน โดยที่กระทำต่อฝ่ายตรงข้าม, เพื่อนร่วมทีม,
กรรมการผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสิน หรือบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับบัตรเหลือง จะได้รับโทษทางวินัย ดังนี้ :-
1 บัตรเหลืองใบแรก
โทษ : ตักเตือนตามปกติ
2 บัตรเหลืองใบที่สองในผู้เล่นคนเดียวกันในเกมแข่งขันคนละเกม แต่เป็นรายการแข่งขันเดียวกัน
โทษ : พักการแข่งขัน 1 แมทซ์
3 บัตรเหลืองใบที่สามหลังจากถูกพักการแข่งขันเนื่องจากได้บัตรเหลือง 2 ใบในรายการแข่งขัน โดยผู้เล่นคนเดิม
โทษ : พักการแข่งขัน 2 แมทซ์
: ปรับเงิน 100 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งสโมสรหรือผู้รับผิดชอบนักกีฬาผู้นั้นเป็นผู้จ่าย
4 บัตรเหลืองใบที่สี่ได้รับบัตรเหลืองหลังจากที่ถูกพักการแข่งขัน 2 แมทซ์ จากการได้รับบัตรเหลืองใบที่สามในรายการแข่งขัน
เดียวกันและนักกีฬาคนเดิม
โทษ : ให้ออกจากการแข่งขันในแมทซ์ถัดไป และรายการแข่งขันที่รับรองโดยองค์กรเซปักตะกร้อจนกว่าคณะกรรมการวินัย
จะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
5 ได้รับบัตรเหลืองใบที่สองโดยผู้เล่นคนเดิมในแมทซ์การแข่งขันเดียวกัน
โทษ : พักการแข่งขัน 2 แมทซ์
: ปรับเป็นเงิน 100 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งสโมสรหรือบุคคลที่รับผิดชอบนักกีฬาดังกล่าวเป็นผู้จ่าย
: หากมีการกระทำผิดวินัยในการแข่งขันในแมทซ์อื่น แต่เป็นการแข่งขันในรายการเดิมอีกจะได้รับบัตรแดง
► ผู้เล่นที่กระทำผิดวินัยร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นการกระทำใน หรือนอกสนามแข่งขัน ซึ่งเป็นการกระทำต่อฝ่ายตรงข้าม, เพื่อนร่วมทีม, กรรมการผู้
ตัดสิน, ผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือบุคคลอื่น และได้รับบัตรแดง จะได้รับการพิจารณาโทษ ดังนี้ :-
1 บัตรแดง
โทษ : ให้ออกจากการแข่งขัน และให้พักการแข่งขันในรายการที่รับรองโดยองค์กรกีฬาเซปักตะกร้อจนกว่าคณะกรรมการ
วินัยจะได้มีการพิจารณาและมีการตัดสินในเรื่องดังกล่าว
► การลงโทษทางวินัยจะกระทำต่อเจ้าหน้าที่ประจำทีมในกรณีที่ประพฤติในสิ่งมิบังควร หรือรบกวนการแข่งขันไม่ว่าจะในสนามแข่งขัน หรือนอกสนามแข่งขัน
► เจ้าหน้าที่ประจำทีมที่ประพฤติในสิ่งมิบังควรหรือรบกวนการแข่งขันจะถูกเชิญให้ออกจากสนามแข่งขันโดยเจ้าหน้าที่ที่จัดการแข่งขัน และกรรมการผู้ตัดสิน และจะถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ประจำทีมจนกว่าคณะกรรมการวินัยจะได้พิจารณาตัดสินในกรณีดังกล่าว
► หากมีเหตุหรือกรณีอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกติกาการแข่งขัน การตัดสินของกรรมการผู้ตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด